1
2

มารยาทการรับประทานอาหารแบบสากล



มารยาทการรับประทานอาหารแบบสากล

                งานสังคม หรืองานเลี้ยงอาหารในโอกาสต่าง ๆ เป็นสิ่งที่จะหลีกเลี่ยงเสียมิได้ ในชีวิตประจำวันของเรา ทั้งการเป็นแขกรับเชิญ และการเป็นเจ้าภาพ  แบบธรรมเนียมปฏิบัติของแขกรับเชิญงานรับประทานอาหาร แต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันบ้าง แต่โดยพื้นฐานแล้วมารยาทในโต๊ะอาหารมีมาตรฐานสากล   เพื่อให้รับประทานอาหารได้สะดวกโดยไม่รบกวนหรือทำให้ผู้ร่วมโต๊ะคนอื่นต้องขัดเขิน  ซึ่งมีแนวทางดังนี้

 ก่อนเข้าโต๊ะอาหาร
-          เจ้าภาพ จะทักทายกับแขกทุกท่าน และตรวจสอบยอดแขกรับเชิญ
-          แขกจะได้ทักทายพูดคุยซึ่งกันและกัน และตรวจสอบที่นั่ง ณ โต๊ะอาหารจากผังที่นั่ง
-       ท่านที่เป็นชายจะมีหน้าที่นำแขกสุภาพสตรีที่นั่งด้านขวาเข้าโต๊ะ ในกรณีนี้ควรจะหา โอกาสให้เจ้าภาพแนะนำท่านให้รู้จักกับสุภาพสตรีที่นั่งด้านขวาท่านหรือหาโอกาสเข้าไปแนะนำตนเองก่อน เข้าโต๊ะอาหาร
-       ควรมางานเลี้ยงให้ตรงเวลาตามบัตรเชิญ หากเป็นงานเลี้ยงที่เป็นกันเอง การนำของฝากมาให้เจ้าภาพนับเป็นการแสดงออกที่ดี ของฝากอาจเป็นดอกไม้  ไวน์  ซ็อกโกแลต หรืออะไรก็ได้ที่ เหมาะสม ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินมาไม่ได้หรือมาช้า จะต้องโทรศัพท์แจ้งเจ้าภาพเพื่อให้เจ้าภาพได้แก้ปัญหาทันเวลา (เช่น เชิญทุกคนรับประทานอาหารตามเวลาแทนที่จะคอย)
-       เจ้าภาพ (ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าภาพฝ่ายชาย) จะเชิญให้แขกดื่ม  แขกจะเริ่มดื่มได้ในทันทีที่ได้รับแก้ว  เมื่อบริกรเวียนมาบริการเครื่องดื่มเพิ่มเติม ท่านอาจรับหรือปฏิเสธก็ได้ตามความเหมาะสม เมื่อเจ้าภาพเชิญเข้าห้องรับประทานอาหาร ควรวางแก้วและเดินเข้าไปประจำเก้าอี้ตามผังการนั่ง ไม่ ควรนำเครื่องดื่มจากการเลี้ยงรับรองก่อนอาหารมาที่โต๊ะอาหาร

 การเข้าโต๊ะอาหาร
-       แขกรับเชิญไม่ควรจะนั่งจนกว่าเจ้าภาพฝ่ายหญิงและแขกผู้มีเกียรติจะนั่งแล้ว หรือเจ้าภาพฝ่ายชายเชิญให้นั่ง  สุภาพบุรุษควรช่วยสุภาพสตรีด้านขวาเข้านั่งก่อนที่ตนจะเข้านั่ง 
-       ในการนั่งควรพยายามนั่งตัวตรงโดยวางมือบนตักหรือวางเบาๆ บนโต๊ะ แต่ไม่ควรวางข้อศอกบนโต๊ะ เพราะอาจเผลอกดโต๊ะพลิกได้ และยังทำให้ผู้อยู่ซ้ายและขวาของท่านพูดคุยกันไม่สะดวก
-       เวลานั่งโต๊ะควรเลื่อนเก้าอี้ให้ตัวท่านชิดกับโต๊ะมากที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องก้ม การนั่งควรนั่งหลังตรง เวลารับประทานอาหารอาจโน้มตัวมาเหนือจานเล็กน้อย
-       เมื่อนั่งแล้วควรหยิบผ้าเช็ดปากที่อยู่ด้านซ้ายหรือตรงกลางมาคลี่พาดบนหน้าตักโดยรอปฏิบัติหลังเจ้าภาพ  ปกติผ้าเช็ดปากจะวางด้านซ้ายในงานไม่เป็นทางการและจะวางตรงกลางสำหรับงานเป็นทางการ   ในสังคมตะวันตกมักจะมีการกล่าวขอบคุณพระเจ้าก่อนรับประทานอาหาร การคลี่ผ้าเช็ดปากจึงควรรอจังหวะโดยดูเจ้าภาพเป็นหลัก
-       หลังจากกล่าวขอบคุณพระเจ้าแล้ว ควรคลี่ผ้าเช็ดปากโดยให้อยู่ในสภาพพับครึ่งและวางขวางบนตัก  จะไม่ใช้เหน็บกับเอวหรือคอเสื้อ (วิธีเช็ดปาก : คลี่มุมผ้าแยกออกจากกันพอสมควรแล้วซับที่ริมฝีปาก ใช้แล้ว พับกลับอย่างเดิมวางไว้บนตัก ผู้นั่งใกล้เคียงจะไม่เห็นรอยเปื้อนที่เราเช็ด เพราะรอยเปื้อนจะอยู่ด้านในของผ้า เช็ดปาก) ถ้าจำเป็นต้องไอหรือจาม ให้ใช้ผ้าเช็ดปากปิดปากหรือจมูก และหันหน้าออกจากโต๊ะอาหารก่อนไอ หรือจาม อย่าสั่งน้ำมูก ขากเสลด หรือถ่มน้ำลาย ลงผ้าเช็ดปาก
-       หลังการรับประทานอาหารเสร็จสิ้น ถ้าเป็นภัตตาคารให้วางผ้าเช็ดปากบนโต๊ะโดยไม่ต้องพับ ถ้าเป็น บ้านเจ้าภาพ ให้พับสี่และวางบนโต๊ะ ซึ่งถือว่าสิ้นสุดการรับประทานอาหารด้วย อย่างไรก็ตามห้ามม้วนผ้าเช็ด ปากเป็นก้อนหรือขยำไว้บนโต๊ะ

 อุปกรณ์ในการรับประทานอาหาร
                อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารตะวันตก จะใช้ ส้อมและมีด เป็นหลัก   ซึ่งมักจะเรียกว่าเครื่องเงิน (Silverware หรือ Flatware) เพราะเดิมจะทำจากเงิน sterling   เครื่องเงินหรือช้อนส้อมมีด จะจัดวางตามลำดับการใช้งาน คือ ตามรายการอาหารที่จะเสิร์ฟ   ถ้าอาหารมีหลายรายการ เครื่องเงินย่อมมีมากจนอาจมองดูแล้วน่าสับสน  แต่โดยหลักการแล้วจะมีมีด  ไม่เกิน 3 เล่ม และส้อมไม่เกิน 3 คัน ไม่ว่าจะเป็นงานเป็นทางการระดับใดก็ตาม  ซึ่งถ้าจำเป็นต้องใช้มากกว่านั้น   บริกรจะนำมาเพิ่มเติมตามความจำเป็นพร้อมกับอาหารนั้นๆ
                1.     เลือกใช้จากด้านนอกสุดของจานเข้าหาด้านใน (ทั้งซ้ายและขวา) นั่นคือสิ่งแรกที่ท่านต้องใช้คือ  ช้อนคันนอกสุดจากด้านขวา หรือส้อมคันนอกสุดจากด้านซ้ายร่วมกับมีดเล่มนอกสุดจากด้านขวา
                2.     มีดและช้อน จะอยู่ด้านขวาของจาน  และส้อมอยู่ด้านซ้าย   ช้อนส้อมสำหรับของหวานจะวาง ถัดไปทางด้านบนของจาน ซึ่งจะ ใช้เป็นอันดับท้ายสุด
                3.     เครื่องเงินควรใช้นำอาหารเข้าปาก ไม่ใช่ก้มปากมารับอาหาร  อย่าแกว่งมีดส้อมประกอบการ สนทนา หากต้องใช้มือประกอบท่าทางในการสนทนาควรวางช้อนส้อมเสียก่อน หากสงสัยถึงความเหมาะสม ในการใช้เครื่องเงินขอให้ประวิงเวลาและดูจากเจ้าภาพเป็นหลัก
  
                ธรรมเนียมการใช้เครื่องเงิน  มี  สองแบบ คือ แบบอเมริกัน และแบบยุโรป  
-       แบบอเมริกันจะถือส้อมในมือซ้าย โดยคว่ำส้อมจิ้มจับอาหารให้นิ่งเพื่อใช้มีดในมือขวาตัด เมื่อตัดอาหารเป็นคำหลายๆ คำแล้ว จะวางมีดด้านขวา หรือด้านบนของจานโดยหันคมมีดเข้ามาข้างใน (จะไม่วางบนโต๊ะโดยเด็ดขาด) และเปลี่ยนมาถือส้อมด้วยมือขวาให้ปลายส้อมหงายขึ้นจับด้ามส้อมด้วยนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้นิ้วกลางในลักษณะจับดินสอ   เพื่อจิ้มอาหารเข้าปาก    การจับส้อมในการหั่นอาหารจะจับคว่ำในอุ้งมือซ้ายโดยนิ้วชี้จะพาดกดไปตามก้านส้อม (ด้านหลัง) ส่วน มีดนั้นจะจับในอุ้งมือขวาและนิ้วชี้พาดไปตามด้ามมีด นิ้วชี้จะไม่แตะบนสันมีด วิธีจับส้อมและมีดในการหั่นนี้ จะเหมือนกันทั้งในธรรมเนียมอเมริกันและยุโรป จะแตกต่างกันก็คือในแบบยุโรปจะไม่มีการสลับส้อมมาถือมือ ขวา การนำอาหารเข้าปากจะใช้ส้อมในมือซ้ายเท่านั้น ธรรมเนียมเดิมจะต้องใช้ส้อมคว่ำ
-       ในปัจจุบันสามารถใช้ทั้งส้อมคว่ำและหงาย นำอาหารเข้าปาก เช่น ถ้ารับประทานข้าวหรือถั่วอาจหงายส้อมขึ้นและใช้มีดช่วยปาด อาหารให้ขึ้นไปอยู่บนส้อม (โดยปาดจากตัวออกไปหรือปาดขึ้นทางด้านในของส้อม เพื่อ มิให้ข้อศอกกางออก ไปกระทบคนข้างๆ ) ไม่ว่ากรณีใดก็ตามจะไม่มีการใช้มีดนำอาหารเข้าปากโดยเด็ดขาด  ทั้งนี้แบบยุโรปได้รับการยอมรับว่าสุภาพกว่าและควรใช้เป็นหลัก
-       วิธีที่ตัดอาหารเป็นชิ้น ๆ พอดีคำไว้มาก ๆ แล้วจึงใช้ส้อมจิ้มรับประทานด้วยมือขวาติดต่อกันไป ในบางโอกาสก็เป็นการรับประทานที่ ดูรีบร้อนรวดเร็วเกินไป ควรค่อยตัด ค่อยรับประทานเรื่อย ๆ ไปจะงามกว่า
-       ช้อน  จะถือในมือขวาในลักษณะเดียวกันกับที่ถือส้อมในมือขวาโดยทั่วไป (ยกเว้นของหวาน)  อาหารตะวันตกจะมีเฉพาะช้อนซุป ซึ่งในการรับประทานซุป จะยกรับประทานจากข้างช้อน โดยจะไม่นำทั้งช้อนเข้า ปากโดยเด็ดขาด เวลารับประทานซุปนี้ควรยกช้อนมาที่ปากอย่าก้มตัวให้ปากใกล้ชามซุป ถ้าซุปร้อนมาก อาจใช้การคนหรือเป่าเบาๆ  เวลาตักซุปควรตักออกจากตัวโดยตักที่ผิวหน้าของซุป  และแตะก้นช้อนกับขอบชามซุปด้านไกลตัว เพื่อลดการหยดและเปรอะเปื้อนเวลานำซุปเข้าปาก  การรับประทานซุปนี้จะเป็นลักษณะเทเข้าปาก ไม่ใช้การดูดจากช้อน  การตักซุปก้นชามให้จับชามตะแคงออกด้วยมือซ้าย และใช้ช้อนตักตามปกติ เมื่อรับประทานซุปเสร็จแล้ว ให้ยกช้อนซุปมาวางที่ขอบจานรองชามซุป อย่าวางทิ้งไว้ในชามซุป
-       ช้อนของหวาน มักจะมีส้อมของหวานวางคู่กันถัดไปทางด้านบนของจาน  ควรใช้ทั้งช้อนและส้อมในการรับประทานของหวาน หรืออาจใช้ส้อมอย่างเดียวก็ได้  แต่ไม่ควรใช้ช้อนของหวานอย่างเดียว   สำหรับของหวานที่เสิร์ฟในถ้วยหรือจานเล็กๆ จะใช้ช้อนชาในการรับประทาน  ช้อนชาที่ใช้กับถ้วยชา กาแฟ หลังจากใช้เสร็จแล้วควรวางในจานรองถ้วยชา/กาแฟ  อย่าวางบนโต๊ะซึ่งจะทำให้ผ้าปูโต๊ะเปรอะเปื้อน แต่ถ้ากาแฟถูกเสิร์ฟในถ้วย MUG (ถ้วยใหญ่ไม่มีจานรอง) อาจวางช้อนกาแฟคว่ำบนจานขนมปังหรือจาน DINNER ได้
-       มีดเนย  จะอยู่ในจานขนมปังด้านซ้าย และจะใช้สำหรับทาเนยบนขนมปังแต่ละชิ้นที่จะรับประทาน   การตัดเนยจากจานกลางมาไว้บนจานขนมปังของท่าน ให้ใช้มีดเนยใหญ่ในจานเนยกลางเท่านั้น การทาเนยบน ขนมปังนั้นจะต้องใช้มีดเนยอย่างเดียวอย่าใช้มีดเนื้อหรือมีดปลา
-          ส้อมสลัด  จะมาคู่กับมีดสลัด  ตำแหน่งในการวางจะขึ้นอยู่กับว่า สลัดจะเสิร์ฟก่อนหรือหลังอาหารหลัก
-          มีดปลา   จะเป็นมีดปลายมน ไม่มีสันคม เหมาะแก่การเลาะก้างปลาและรับประทานปลา

 ระหว่างนั่งโต๊ะอาหาร   มีข้อพึงปฏิบัติและข้อพึงระวังเพิ่มเติมพอสังเขป ดังนี้
-          เมื่อนั่งลงเรียบร้อยแล้ว ไม่ควรจับต้องเครื่องเงินเล่นหรือพลิกจานชามเพื่อดูยี่ห้อ
-       ฝ่ายชายมีหน้าที่ดูแลคนที่นั่งด้านขวามือเป็นหลัก ทั้งในการบริการส่งต่อหรือในการสนทนา  ตลอดระยะเวลาที่นั่งอยู่ในโต๊ะอาหาร แต่ก็ไม่ควรละเลยบุคคลด้านซ้าย
-       โดยปกติในโต๊ะรับประทานอาหารจะมีแก้ววางอยู่ทางขวามือ 3-4 ใบ ใบแรกจะใช้ดื่มไวน์ขาว  ใบถัดไปใช้กับไวน์แดง ใบที่สามจะเป็นแก้วน้ำเย็น และในกรณีที่มีใบที่  4  จะเป็นแก้วแชมเปญ  การใช้แก้วหรือจัดลำดับแก้วตามที่กล่าวนี้  คือเรียงจากนอกเข้าใน เช่นเดียวกับการใช้มีดหรือส้อม
-       หากต้องการเกลือ พริกไทย หรือของส่วนกลางบางอย่างที่วางอยู่บนโต๊ะแต่หยิบไม่ถึง ให้ใช้วิธี ขอให้ส่งผ่าน ไม่ควรใช้การเอื้อมหรือลุกขึ้นยืนหยิบ  เมื่อใช้เสร็จแล้วควรส่งต่อเวียนขวา ถ้าเป็นการส่งต่อ เกลือ พริกไทย ควรส่งต่อพร้อมกัน
-       เครื่องเคียงทุกอย่างรวมถึงผักดองควรวางไว้ข้างจาน  และตักแบ่งใส่อาหาร ทีละคำ จะมีเฉพาะเนยแข็งบด พริกไทย เกลือ ที่จะโรยบนอาหารทั้งจานโดยตรง พึงหลีกเลี่ยงการขออะไรที่ไม่ ได้เตรียมไว้บนโต๊ะเพราะเท่ากับเป็นการต่อว่าเจ้าภาพว่าเตรียมโต๊ะไม่พร้อม และถ้าเจ้าภาพไม่มี เจ้าภาพจะยิ่ง ไม่สบายใจ
-       อย่าใส่เครื่องปรุงอาหารก่อนชิม เพราะเป็นการดูถูกว่ารสอาหารที่ปรุงมาไม่พอดี ควรชิมอาหารเสีย ก่อนจึงค่อยเติมเครื่องปรุงอาหาร
-          อย่านำเครื่องปรุงส่วนตัว เช่น น้ำปลา พริกป่น ไปในงานเลี้ยงรับประทานอาหาร
-       การรับประทานอาหารให้หมดจานเป็นการแสดงออกถึงความอร่อยของอาหาร และเป็นการ ให้เกียรติแก่เจ้าภาพ ไม่ควรที่จะจงใจเหลืออาหารไว้ในจาน หรือตักมากเกินไปจนเหลือมากแสดงถึงความ ฟุ่มเฟือย ไม่มัธยัสถ์
-       ถ้ามีอาหารบางอย่างที่รับประทานไม่ได้ (เช่น เพราะแพ้อาหาร นั้น) ควรแจ้งเจ้าภาพตั้งแต่ ตอนตอบรับคำเชิญ แต่หากทำไม่ได้ควรเลือกรับประทานอย่างอื่นในจาน และหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้  หรือถ้าเป็นแบบเสิร์ฟ ท่านสามารถตักของที่แพ้เพียงแต่น้อย และตักอย่างอื่นเพิ่มขึ้นชดเชย   การปฏิเสธ  WINE  ไม่ถือว่าเป็นการผิดมารยาทแต่ประการใด
-          ไม่ควรคุยเสียงดังหรือคุยข้ามโต๊ะ โดยเฉพาะหัวโต๊ะและท้ายโต๊ะ ควรจะคุยระหว่างคนข้างเคียง
-          หลังจากได้รับบริการอาหารแล้ว อย่าส่งต่ออาหารให้ผู้อื่น เพราะการเสิร์ฟอาหารเป็นหน้าที่ ของบริกร
-          การดื่มน้ำควรใช้ผ้าเช็ดปากซับปากเสียก่อนเพื่อป้องกันคราบอาหารติดที่ขอบแก้ว
-          อย่าแลกอาหารหรือแบ่งอาหารบางส่วนของตนให้ผู้อื่นแม้จะอยู่ในโต๊ะอาหารเดียวกัน
-          ไม่ควรใช้ไม้จิ้มฟันในโต๊ะอาหาร
-          ไม่เรียกเครื่องดื่มที่ตนชอบมารินอีกเมื่ออาหารและเครื่องดื่มชุดนั้นผ่านไปแล้ว
-       กิริยาอาการบางอย่างในการรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่ไม่สุภาพ เช่น การพูดในระหว่างมีอาหารเต็มปาก การทำเสียงในระหว่างเคี้ยวหรือกลืน การรับประทานอาหารคำใหญ่เกินไป หรือการเรอเสียงดัง
-       ในระหว่างการรับประทานอาหาร หากสุภาพสตรีด้านขวามือลุกขึ้นจากโต๊ะด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะต้องรีบลุกขึ้นและเลื่อนเก้าอี้ให้สุภาพสตรีผู้นั้น หากท่านมีกิจธุระจำเป็นจะต้องลุกจากโต๊ะ ควรขอโทษเจ้าภาพ ก่อนลุกขึ้นไปทำธุระ
-       การพักระหว่างรับประทานอาหารให้วางเครื่องเงินบนจาน ส้อมและมีดควรวางทำมุมกันประมาณ 100 องศา โดยคว่ำส้อมและหันคมมีดไปทางซ้าย   อย่าวางกับผ้าปูโต๊ะ หรือ รวบส้อมมีดซึ่งหมายถึงการอิ่มคอร์สนั้น

 ลำดับการเสิร์ฟอาหาร
                โดยทั่วไป จะเป็นตามขั้นตอน  คือ  ขนมปังและเนย   ซุป  สลัด  อาหารจานหลัก  ของหวาน  ชา/กาแฟ  
§       ขนมปังและเนย
                จานขนมปังจะอยู่ด้านซ้ายของผู้นั่งและบนจานจะมีมีดเนยรูปทรงแบบปลายมน  ใช้สำหรับตักเนยใน จานเพื่อทาขนมปังแต่ละชิ้นก่อนรับประทาน บริกรจะเสิร์ฟขนมปังรายบุคคลหรือวางตะกร้าขนมปังบนโต๊ะ ในกรณีที่เสิร์ฟรายบุคคล บริกรจะนำตะกร้ามาบริการทางซ้าย ท่านจะชี้หรือระบุว่าต้องการขนมปังใด (ถ้ามีให้ เลือก)  ซึ่งบริกรจะตักวางบนจานขนมปังของท่าน ถ้าเป็นตะกร้าขนมปังให้ใช้ที่คีบหรือมือหยิบขนมปังที่  ต้องการวางบนจานขนมปังของท่าน พึงหลีกเลี่ยงการบีบหรือคลำขนมปังในตะกร้า (เพื่อตรวจสอบความนิ่ม หรือแข็ง)   ชิ้นใดที่จับแล้วควรหยิบมารับประทาน การตักเนยจากเนยจานกลาง  (นอกจากในกรณีที่ท่านเลือก GARLIC BREAD ซึ่งทาเนยและกระเทียมพร้อมแล้ว) ท่านจะต้องตักเนยจากเนยจานกลาง โดยทั่วไปเนยจานกลางจะจัดเป็นเนยก้อนๆ รูปสี่เหลี่ยม, เปลือกหอย ฯลฯ และมีมีดเนยกลางอยู่ ท่านจะใช้มีดเนยกลางตักเนยมาวางบนจานขนมปังของท่านก่อน หลังจากนั้นจึงจะใช้มีดเนยตนเองทาเนยบนขนมปัง อย่าตักเนยจากจานเนยกลางมาทาขนมปังโดยตรง   มารยาทในการรับประทานขนมปังกับเนยคือ  ทานเป็นคำ  ดังนั้นท่านจะต้องฉีกขนมปังเป็นชิ้นพอดีคำก่อนและจึงทาเนยก่อนรับประทาน   อย่ารับประทานโดยการกัดขนมปังนั้น  โดยมารยาททั่วไปไม่ควรนำขนมปังมาเช็ดน้ำเกรวี่หรือน้ำซ้อสในจานอาหารหลัก (ENTREE) แต่ในบางประเทศ  เช่น  อิตาลี  การนำขนมปังมาเช็ดซ้อส ถือว่าเป็นการให้เกียรติ แสดงความอร่อยจนหยุดสุดท้ายของน้ำซ้อส  (พ่อครัวอาจออกมากอดท่านขอบคุณในการให้เกียรติอย่างสูง)
§       ซุป
                เมื่อบริกรเสิร์ฟซุปแล้ว   จะต้องรีบรับประทาน เพราะซุปจะเย็น  และในการเสิร์ฟอาหารเป็นคอร์สนั้น  บริกรจะรอแขกคนสุดท้ายรับประทานอาหารคอร์สนั้นๆ   เสร็จแล้วจึงยกออก   พึงหลีกเลี่ยงการ บิขนมปังจากจานขนมปังลงในซุป สำหรับซุปที่ควรมีขนมปังบิใส่ เช่น CLAM CHOWDER จะมีบริการขนมปังพิเศษเหมาะแก่การใส่ลงในซุปโดยบริกร หรือมีการจัดวางมาเป็นเครื่องเคียงซุปในจานรองซุปให้
                โดยทั่วไปผู้รับเชิญจะต้องรอจนอาหารแต่ละคอร์สได้วางตรงหน้าทุกคน และเจ้าภาพเชิญให้เริ่มรับประทานจึงจะรับประทาน แต่ในงานเลี้ยงใหญ่  เจ้าภาพฝ่ายหญิงอาจเชิญให้รับประทานทันทีที่ได้รับเสิร์ฟเพื่ออาหารจะได้ไม่เย็น ในกรณีนั้นควรรอให้พร้อมรับประทาน 3-4 คน ก่อน จึงเริ่มรับประทาน
                ซุบบางประเภท เช่น ซุปใส (CONSOMME)  ที่เสิร์ฟในถ้วยมีหูสองข้าง สามารถจับหูทั้งสองยก  รับประทานได้  นอกนั้นควรใช้ช้อนซุปในการรับประทาน ถ้าซุปเสิร์ฟในจานใหญ่  ให้วางช้อนไว้ในจานเมื่ออิ่มแล้วถ้าเสิร์ฟในถ้วยให้วางช้อนในจานรอง
§       สลัด 
                โดยส่วนมากแล้วสลัดผักในงานเลี้ยงรับประทานอาหารค่ำอย่างเป็นพิธีการ  จะจัดมาแล้วทั้งชุด สลัด  DRESSING   และเนื้อ (ปู,ปลา,ไก่,กุ้ง,เนื้อ ฯลฯ) หากไม่นิยมหรือไม่ถูกกับประเภทเนื้ออาจเลือก รับประทานเฉพาะผัก  และเหลือส่วนที่รับประทานไม่ได้ไว้ในจาน (ในบางวัฒนธรรม เช่น ฝรั่งเศส อาจนิยมสลับเสิร์ฟสลัดหลังอาหารหลัก)
§       อาหารหลัก (ENTRÉE)
                หลังจากบริกรเก็บจานสลัดเรียบร้อยแล้ว  จะทำการเสิร์ฟอาหารหลักซึ่งการเสิร์ฟอาจเสิร์ฟเป็นจาน (PLATE) หรือเสิร์ฟแบบจานเปล (PLATTER) ในการเสิร์ฟเป็นจานจะเสิร์ฟเป็นรายบุคคล โดยบริกรจะยก  เสิร์ฟเข้าด้านซ้าย เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็เริ่มรับประทานได้ ในกรณีหลังเช่น การเสิร์ฟปลา  บริกรจะนำจานเปลอาหารใช้เลือกรับประทานโดยเข้าทางด้านซ้าย แขกจะใช้ช้อนและส้อมใหญ่ในจาน เปลนั้น นำอาหารจากจานเปลมาไว้ที่จานตนเอง โดยทั่วไปอาหารจะหั่นเป็นชิ้นมาเรียบร้อยแล้วในจานเปล แต่ ถ้าไม่ได้หั่นก็สามารถใช้ช้อนใหญ่หั่นได้   สำหรับจานเปลที่เสิร์ฟอาหารประเภทผัก ช้อนตัก จะมีร่องเพื่อไม่ให้ส่วนประกอบที่เป็นของเหลวหยดเปรอะเปื้อนตอนตักใส่จาน การจับช้อนและส้อมเสิร์ฟนั้น
                ในกรณีที่อาหารหลักเป็นปลา มีดที่เจ้าภาพจัดให้จะเป็นมีดปลา ซึ่งมีปลายมนไม่มีสันคมเหมาะแก่การ เลาะก้างปลาและรับประทานปลา ซึ่งจะวางถัดจากมีดสลัดเข้ามา
§       การเติมอาหารครั้งที่สอง
                เคยมีกฎว่าในการเลี้ยงอาหารแบบนั่งโต๊ะจะไม่มีการเติมครั้งที่สอง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปตามลักษณะ และปริมาณของอาหาร มีเจ้าภาพจำนวนมากที่เสนออาหารให้เติมครั้งที่สอง เมื่อแขกได้รับการเสนอ ไม่ควรอายที่จะตอบรับ เพราะแสดงถึงความเอร็ดอร่อยของอาหารซึ่งถือเป็นการเยินยอเจ้าภาพ (โดยเฉพาะถ้าเจ้าภาพ ทำอาหารเอง) แต่หากอิ่มสามารถปฏิเสธได้ตามสบาย
                เมื่อรับประทานอาหารจานหลักเรียบร้อยแล้ว ให้รวบส้อมและมีดโดยหันคมมีดไปทางซ้าย ส้อมหงายขึ้น และวางเป็นแนวดิ่งกึ่งกลางของจาน บริกรจะเก็บจานจากทางขวาของผู้นั่ง
§       กาแฟ 
                ในการเสิร์ฟกาแฟ บริกรจะนำชาและกาแฟมาเสิร์ฟ โดยกาแฟจะอยู่ในภาชนะเงินขัดมันทรงสูง (ถ้าเป็นชาจะอยู่ในภาชนะทรงป้อม) การเติมน้ำตาลหรือครีมพึงใช้อุปกรณ์ที่จัดไว้นั้นคือใช้ปากคีบน้ำตามหรือช้อนน้ำตาลตักน้ำตาลและเทครีมใส่ถ้วยจากภาชนะเสิร์ฟ การคนกาแฟ ให้ใช้ช้อนชาของตนเอง  ห้ามใช้ช้อนชาตักกาแฟมาชิม เมื่อคนเสร็จแล้วให้วางช้อนชาลงบนจานรอง อย่าทิ้งไว้ในถ้วย การดื่มให้ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือจับที่หูถ้วย และยกขึ้นดื่ม  โดยระวังไม่ให้มีเสียงดัง หากร้อนเกินไปให้คอย อย่าเป่า  (โดยปกติเจ้าภาพจะไม่เสิร์ฟชาหลังอาหารค่ำ ยกเว้นจะได้รับการร้องขอจากแขกเป็นกรณีพิเศษ)
§       อาหารอื่นนอกจากอาหารหลัก  
ธรรมเนียมแบบ ฝรั่งเศส  เจ้าภาพจะจัดให้เสิร์ฟสลัดผักอยู่หลังอาหารจานหลัก   นอกจากนั้นแล้วยังมีอาหารอีก 2-3 คอร์สที่ท่านอาจจะพบในงานเลี้ยง แบบตะวันตก คือ
-       Hors d’oeuvre  ก็คืออาหารเรียกน้ำย่อย  หรือใน MENU บางร้านอาหารเรียกว่า APPETIZER โดยทั่วไป  แล้วจะเป็นอาหารจานไม่ใหญ่ และมักจะอร่อยเป็นพิเศษเพื่อเรียกน้ำย่อย เช่น SHRIMP COCKTAIL, SMOKED SALMON, OYSTERS หรือ CLAM สด
-       Sorbet หรือ Sherbet เป็นไอสกรีมผลไม้ ไม่ใส่นมหรือครีม บางครั้งปรุงรสด้วยสุรา โดยทั่วไปมักจะเสิร์ฟเป็นก้อนเล็กๆ ในถ้วยไอศกรีมก่อนอาหารจานหลัก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคั่นระหว่างอาหารคอร์สต่อ ไปที่จะเสิร์ฟ ให้กระเพาะได้พักผ่อนเล็กน้อย และเพื่อให้มีโอกาสพูดคุยระหว่างรับประทานอาหาร
-       เนยแข็ง หรือ cheese board จะประกอบด้วยเนยแข็งหลายๆ ประเภท โดยบริกรจะนำมาเสิร์ฟเพื่อให้ ผู้รับประทานเลือก เมื่อเลือกแล้วพนักงานจะตัดเนยแข็งเสิร์ฟพร้อมขนมปัง อาจเสิร์ฟก่อนผลไม้หรือหลังของ หวานขึ้นอยู่กับความประสงค์ของเจ้าภาพ
               
 เทคนิคพิเศษในการรับประทานอาหารชนิดต่างๆ
                โดยทั่วไปแล้ว คอร์สของอาหาร คือ Hors d’ oeuvres, Soup, Salad, Sorbet, Entree, Cheese, Dessert  แต่รายละเอียดของอาหารย่อมแตกต่างกันออกไป อาหารบาง อย่างจะมีเทคนิคพิเศษในการรับประทาน
-       เนยแข็ง : ตัดทีละชิ้นเล็กๆ วางบนขนมปังหรือบิสกิต ใช้มือหยิบเข้าปาก บางคนชอบรับประทานขอบของ เนยอ่อน เช่น  camembert ซึ่งเป็นความชอบเฉพาะตัว จะเลือกรับประทานหรือไม่ก็ได้
-       ปลา : มีความนิยมที่แตกต่างกันอยู่สองวิธีคือ  แล่ปลาก่อนรับประทานหรือตัดรับประทานทีละคำ  วิธีหลังถูกต้องกว่า แต่วิธีแรกรับประทานง่ายกว่า แม้ว่าจะมีปัญหาบ้างว่าจะวางก้างไว้ที่ไหน เจ้าของบ้านที่รอบคอบอาจ วางจานเปล่าไว้ให้ข้างๆ ถ้ามีก้างอยู่ในปากให้ใช้มือหยิบออกมาอย่างปกปิดที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ววางไว้ขอบ จาน ในบางโอกาสปลาจะได้รับการเลาะกระดูกและก้างมา  เรียบร้อยแล้วเรียกว่า FILLET (without bones)
-       ผลไม้ :  ผลไม้ที่มีเมล็ด เช่น เชอรี่ และองุ่น ใช้วิธีรับประทานด้วยมือ ยกมือปิดปากคายเมล็ดใส่ แล้ววาง ไว้ขอบจาน ถ้าในขนมพุดดิ้งมีผลไม้ที่มีเมล็ด คายอย่างไม่เปิดเผยลงในช้อนวางไว้ขอบจาน ถ้าเป็นผลไม้ที่มี  เมล็ดโต เช่น พีช ใช้มีดแซะเมล็ดออก ตัดผลไม้เป็นส่วนๆ ด้วยมือแล้วรับประทาน
-       เนื้อ  :  ใช้มีดต่อเมื่อจำเป็นต้องตัด หรือใช้สำหรับกวาดของในจาน ตามปกติ Roast Beef หรือเสต็ก จะรับประทานโดยใช้ทั้งมีดและส้อม  แต่ปลาใช้ส้อมอย่างเดียว
-       หอยแมลงภู่ : บางทีเสิร์ฟพร้อมกับหอยเชลล์  ชาวอังกฤษใช้มือข้างหนึ่งจับเปลือกหอยทีละตัว  แล้วใช้ส้อม จิ้มเนื้อเข้าปาก ชาวฝรั่งเศสใช้เปลือกหอยเปล่าตักเนื้อหอยแทนส้อม
-       ถั่ว : มีสองวิธี   วิธีแรกคือ ใช้ส้อมจิ้มถั่ว 2-3 เมล็ด แล้วใช้มีดเขี่ยถั่วอีกจำนวนหนึ่งขึ้นไปบนหลังส้อม  อีกวิธีหนึ่งคือหงายส้อมขึ้น (ไม่ต้องเปลี่ยนมือ) แล้วตักถั่วโดยใช้มีดช่วยเขี่ยขึ้น เมื่อตัก เข้าปากแล้ววางส้อมคว่ำลงแล้วหงายขึ้นตักต่อไปอีก
-       พุดดิ้ง   : ปัจจุบันนิยมรับประทานพุดดิ้งโดยใช้ส้อม แต่ถ้าตัดให้พอคำลำบากก็ใช้ช้อนและส้อม มีข้อยกเว้น  สองอย่างคือไอศกรีมและ Sherbet ให้ใช้ช้อนเพียงอย่างเดียว
-          โรลส์   : ใช้มือบิ ไม่ใช้มีดตัดออกเป็นสองส่วน แบ่งเป็นชิ้นพอคำ ทาเนยถ้าต้องการ หยิบเข้าปาก
-          สลัด   :  ถ้าจำเป็นใช้ได้ทั้งมีดและส้อม
-       หอยทาก หรือเอสคาร์โกต์ (escargots) : เสิร์ฟพร้อมด้วยคีมพิเศษและส้อม 2 ซี่ ใช้มือซ้ายจับคีม คีบเปลือก หอยไว้ให้แน่น และใช้ส้อมจิ้มเนื้อหอยออกมา ถ้ามีขนมปังเสิร์ฟมาด้วย จะใช้ขนมปังกวาดซ้อส กระเทียมที่ เหลือในจาน ก็ถือว่าถูกต้องและเอร็ดอร่อยสำหรับการรับประทานหอยทาก
-       หอยนางรม : จะรับประทานสดๆ โดยใช้ส้อมหอยโดยเฉพาะ ใช้ส้อมจิ้มทั้งตัวและราดด้วยน้ำมะนาวหรือน้ำ ซ้อสค็อกเทล และรับประทานทั้งตัวในคำเดียว อย่าตัดแบ่งหอยนางรมบนเปลือกเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนรับประทานไม่ว่าหอยจะตัวใหญ่เท่าใดก็ตาม

 การกล่าว TOAST
                คำว่า TOAST นั้นมีประวัติอันยาวนานตั้งแต่อดีต ซึ่งในสมัยก่อนนั้นมีการนำขนมปังปิ้ง (TOAST) ใส่ลงในแก้ว BEER หรือเหล้า เมื่อขนมปังเปียกชิ้นขนมปังก็จะจมลงสู่ก้นถ้วย ถ้าในโต๊ะอาหารมีบุคคลใดท้าทาย “TOAST” ความหมายก็คือ เชิญชวนท้าทายดื่มจนหมดแก้วจนถึงชิ้น TOAST
                ในธรรมเนียมปัจจุบัน การดื่ม TOAST จะไม่นิยมดื่มจนหมดแก้ว จะนิยมดื่ม CHAMPAGNE หรือ WINE ในแก้วเพียง 1-2 จิบ (CHAMPAGNE หรือ WHITE WINE เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในการ TOAST ซึ่งกัน และกัน)   การที่ดื่ม แต่น้อยก็เพราะการ TOAST มักจะมีต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ครั้ง คือจากการเชิญชวนของ เจ้าภาพ (เจ้าภาพจะเป็นคนกล่าว TOAST แขกเสมอตามธรรมเนียม) และจากการเชิญชวนของแขกผู้ได้รับเกียรติ
                การไม่ดื่ม TOAST ถือว่าผิดมารยาทเป็นอย่างยิ่ง  ถ้าไม่ดื่มแอลกอฮอล์ สามารถยกแก้วขึ้นแตะ ริมฝีปากพอเป็นพิธีได้
                ถ้าท่านเป็นผู้รับเกียรติในการ TOAST ท่านจะยังคงนั่งในโต๊ะอาหาร บุคคลอื่นที่ดื่มให้แก่ท่าน จะลุกขึ้นยืนให้เกียรติถ้าบุคคลที่ TOAST ให้ท่านซึ่งเป็นผู้ที่มีอาวุโสสูงหรือมีเกียรติยศสูง  ท่านอาจจะยืนรับการTOAST แต่ท่านจะไม่ดื่มด้วยเพราะจะเป็นการดื่มให้แก่ตนเอง  หลังจากทุกคนที่ดื่มให้แก่ท่านได้นั่งลงแล้ว  ท่านอาจยืนและกล่าวขอบคุณพร้อมกับ TOAST ตอบแทนได้ ในกรณีท่านเป็นสุภาพสตรี ท่านอาจใช้วิธีกล่าว TOAST ตอบแทน หรือแค่ยกแก้ว และรับยิ้มรับทราบให้แก่ผู้ให้เกียรติท่านเป็นเชิงขอบคุณ
                โดยทั่วไปการกล่าว TOAST จะกล่าวหลังรับประทานอาหาร อาจเป็นระหว่างหรือหลังรับประทานของหวานก็ได้  คำ TOAST ต่างประเทศ ที่ง่ายที่สุดและนิยมใช้คือ TO YOUR HEALTH

 กาแฟและเหล้าหลังอาหาร
                อาจเสิร์ฟที่โต๊ะหรือนอกโต๊ะอาหาร  ถ้ามีบริกรเป็นผู้เสิร์ฟ เขาจะรินกาแฟ ให้แขก และแขกจะเติมครีม, น้ำตาลเอง หรืออาจวางถาดกาแฟไว้ข้างๆ เจ้าภาพหญิง ซึ่งเธอจะเป็นผู้รินกาแฟ เอง (การเสิร์ฟกาแฟกับชา ต่างกันคือ ในการเสิร์ฟกาแฟแขกเป็นผู้เติมครีมและน้ำตาลเอง)
                เหล้าหลังอาหาร  บรั่นดีและเหล้าหลังอาหาร (ถ้ามี) จะนำมาเสิร์ฟทันทีภายหลังการเสิร์ฟกาแฟ   ถ้าเป็นการเสิร์ฟในห้อง นั่งเล่น เหล้าหลังอาหารและแก้วจะวางไว้ยังโต๊ะข้างฝา แต่ถ้าแขกยังคงอยู่แถว ๆ โต๊ะอาหาร เหล้าและแก้วจะถูกนำมาเสิร์ฟในถาด

 การนั่งอยู่ในโต๊ะอาหารต่อไป
                ถ้าหลังจากการเสิร์ฟกาแฟแล้ว แขกยังคงต้องการนั่งต่อไป ณ โต๊ะอาหารหรือไม่มีที่เพียงพอจะย้ายไปที่ อื่น แขกควรทำตัวตามสบายโดยการลุกขึ้นยืน เลื่อนเก้าอี้หรือเปลี่ยนท่านั่งกัน (โดยไม่ทำความลำบากใจให้ผู้ อื่น) วิธีที่ปลอดภัยที่สุดก็คือ เจ้าภาพควรเป็นผู้ริเริ่มการเปลี่ยนที่นั่ง

 การอำลา
                ปกติแขกจะลากลับจากการเลี้ยงอาหารค่ำแบบนั่งโต๊ะตามเวลาในบัตรเชิญ หรือเวลาในกำหนดการที่พิมพ์ไว้ใน MENU รับประทานอาหารค่ำ ในกรณีที่ไม่กำหนดเวลาเสร็จสิ้นงานรับประทานอาหาร  แขกควรเริ่มอำลาเจ้าภาพได้หลังจากลุกจากโต๊ะอาหารมารับประทานเครื่องดื่มหลังอาหารประมาณ  15 - 30 นาที    สำหรับในงานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ เจ้าภาพอาจมีเทคนิคในการแสดงนัยของการจบงานเพื่อให้แขกลากลับได้ ด้วยการส่งสัญญาณให้ดนตรีหยุดแสดงหรือเปิดไฟสว่างขึ้นหรือมีพิธีกรกล่าวปิดงาน เป็นต้น

 การขอบคุณ
                นอกจากขอบคุณเจ้าภาพตอนลากลับแล้ว  แขกควรเขียนจดหมายขอบคุณ ที่เหมาะสมคือส่งให้ใน วันถัดไป (อนุโลมภายใน 1 อาทิตย์) ในจดหมายควรแสดงความขอบคุณในการต้อนรับ  และ ให้เอ่ยถึงจุดหนึ่งหรือสองจุดในงานเลี้ยงที่แขกพึงพอใจมากเป็นพิเศษ 
                ในงานเลี้ยงหากมีวงดนตรีหรือการจัดแสดงเป็นพิเศษ  แขกเกียรติยศควรหาโอกาสเดินไปกล่าวขอบคุณหัวหน้าวงดนตรี หรือหัวหน้านักแสดงด้วย  จังหวะที่ เหมาะสมคือก่อนจะอำลาเจ้าภาพเพื่อกลับ หรือเมื่อนักดนตรี/นักแสดงกล่าวอำลาเมื่อจบการแสดง

:: pinterest.com ::
:: nayoktech.ac.th ::

1
2

Wish You Happinessss

Success is not the key to happiness. Happiness is the key to success. 
If you love what you are doing, you will be successful. 

~ Albert Schweitzer ~

 คัมภีร์ 5 ห่วง  วิถีแห่ง "ซามูไร" วิถีแห่งนักรบ "บูชิโด"   แนวคิดของตัวเม่น   GOOD LUCK สร้างแรงบันดาลใจเพื่อความสำเร็จ ในชีวิตและธุรกิจด้วยตัวคุณเอง    Why complicate life ?   3 x 8 = เท่าไหร่ ?????   "ฉันชื่อ..โอกาส"

Wish You Happinessss